ความเป็นมาของแบรนด์ "ภูมิ"

25401 จำนวนผู้เข้าชม  | 


ความเป็นมาของแบรนด์ "ภูมิ"

 

 

ขอบคุณบทสัมภาษณ์พิเศษกับเวป www.wministry.com 

บทความโดย Priewpan Saenlawan, Senior Writer, W. MINISTRY

PHUMM (ภูมิ)

แบรนด์กระเป๋ากับคราฟส์แมนชิพจากยุคสงครามโลก นำเสนอเสน่ห์แห่งโลกเก่าที่ไม่เคยตกยุค

สงครามเมนส์แวร์บ้านเราไม่ต่างอะไรไปจาก “Red Ocean” หรือ “มหาสมุทรสีแดง” ที่แต่ละแบรนด์ต่างต้องพยายามอย่างเต็มที่ในการสร้างสรรค์เอกลักษณ์เฉพาะตัว คาแรคเตอร์ที่ชัดเจน เพื่อที่จะตอบคำถามของผู้บริโภคให้ได้ว่า “ทำไมต้องซื้อแบรนด์นี้” 

PHUMM คือหนึ่งในแบรนด์ที่สร้างจุดยืนของตัวเองในสงครามได้อย่างยอดเยี่ยม ระยะเวลากว่า 5 ปีที่แบรนด์เติบโตขึ้นเรื่อยๆ อย่างมั่นคงคือข้อพิสูจน์ที่ชัดเจน

คุณเบน ทศพล พุ่มเจริญ ผู้ก่อตั้งได้ใช้มรดกจากยุคสงครามโลก ผสมผสานเข้ากับแพชชั่นที่มีอย่างเต็มเปี่ยม กลายเป็นผลลัพธ์แห่งสไตล์ที่ทั้งเก๋าและมีเสน่ห์อย่างไม่เสื่อมคลาย ซึ่งในวันนี้ W.Ministry จะไปพูดคุยกับเขากัน

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว คือช่วงเวลาที่แบรนด์ PHUMM หรือที่ออกเสียงง่ายๆ แบบฉบับไทยว่า “ภูมิ” ซึ่งเป็นการนำนามสกุล “พุ่มเจริญ” ของคุณเบนมากร่อนคำให้กระชับ ติดหู และสื่อถึงภูมิปัญญาคนไทยได้ถือกำเนิดขึ้น ด้วยแนวคิดเรียบง่าย ไม่หวือหวา ทว่ามีประสิทธิภาพ

“แบรนด์ PHUMM เริ่มต้นเมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้วครับ จริงๆ ก่อนหน้านั้นตัวผมทำโรงงานผลิต OEM ให้กับแบรนด์อื่น สินค้าส่วนใหญ่จะเป็นกระเป๋าผู้หญิง SME  แต่จริงๆ แล้วเราถนัดเกี่ยวกับไอเท็มผู้ชายมากกว่า ก็เลยเริ่มลงมือทำแบรนด์ของตัวเอง โดยสินค้าที่ผลิตจะเป็นสิ่งที่เราถนัดและมีแพชชั่นกับมัน” 

“ผมชื่นชอบกระเป๋าหนัง กระเป๋า Canvas อยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่จะเป็นของแบรนด์ต่างประเทศที่นำเข้ามาขาย แต่มันก็เกิดคำถามว่าทำไมราคามันถึงสูง มันอาจจะมีค่าภาษีบวกกับกำไรของแต่ละร้านที่นำเข้ามาขาย ซึ่งเราคิดว่าดูจากวัสดุและวิธีการทำ เราเองก็น่าจะทำได้เหมือนกัน ในราคาที่ถูกกว่า มันเลยเป็นตัวจุดประกายในการเริ่มต้นผลิตออกมาในสไตล์ของเรา” คุณเบนเล่าถึงจุดเริ่มต้น ก่อนที่ทุกคนจะได้รู้จักกับ PHUMM ในภายหลัง

เมื่อมีแพชชั่นที่อยากจะทำแล้ว แน่นอนว่าไม่เพียงพอ การจะสร้างแบรนด์ให้อยู่รอดได้ในสงครามเมนส์แวร์จำเป็นต้องมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ชัดเจน อย่างไรก็ตามเมื่อมีความชื่นชอบ คำตอบของคำถามนี้ก็ไม่ใช่เรื่องยาก 

เอกลักษณ์ของ PHUMM นับตั้งแต่วันแรกที่เริ่มผลิตคือการใช้ Waxed Canvas เป็นวัสดุหลัก 

“Waxed Canvas คือการเอาขี้ผึ้งเคลือบลงบนผ้าเพื่อไม่ให้น้ำซึมผ่านได้ มันจะทำให้ผ้าแข็งแรงมากขึ้น กันน้ำได้ดีขึ้น และไม่เปื่อยยุ่ยง่าย”

“ส่วนประกอบหลักของ Waxed Canvas จริงๆ มันก็คือขี้ผึ้งนี่แหละครับ ซึ่งในการทำ Wax แต่ละแบรนด์ก็จะมีสูตรที่แตกต่างกันไป อย่างของผมก็ใช้ขี้ผึ้งเป็นหลัก ผสมกับน้ำมันสกัดจากพืช”

“ตามประวัติศาสตร์มันเริ่มจากยุคสมัยที่ชาวประมงยังใช้เรือใบในการแล่นออกไปหาปลา พวกเขาจะใช้ Wax มาเคลือบบนผ้าใบเรือ เพื่อไม่ให้ลมผ่านผ้าไปได้ เรือก็จะสามารถแล่นได้เร็วขึ้น จากนั้นก็เป็นในยุคสงครามโลก แต่ทหารที่นิยมนำ Wax มาเคลือบบนเต๊นท์ อุปกรณ์ รวมถึงชุดเครื่องแบบ เพื่อให้ทนทานต่อสภาพอากาศได้ดียิ่งขึ้น”

“แต่ยุคหลังที่เทคโนโลยีพัฒนาขึ้น ความนิยมของการใช้ Wax ธรรมชาติมาเคลือบบนผิวผ้าก็ลดลง เพราะ Wax เป็นวัสดุธรรมชาติ มันก็จะมีสีเหลืองของขี้ผึ้งรวมอยู่ด้วย เวลาเอามาเคลือบบนผ้า สีผ้ามันก็จะเปลี่ยน จากผ้าขาวก็อาจทำให้เหลือง จากผ้าเขียวก็อาจเป็นเขียวอมเหลือง”

ถึงแม้การเคลือบ Wax จะเป็นกรรมวิธีแบบโบราณที่ผ่านกาลเวลามานับศตวรรษ และมีข้อเสียที่เทคโนโลยียุคใหม่สามารถเอาชนะได้ แต่คุณเบนกลับมองมุมกลับด้วยเลนส์ของผู้ชื่นชอบความวินเทจ เขาคิดว่า Waxed Canvas มีเสน่ห์เฉพาะตัวที่ไม่มีอะไรทดแทนได้

“จริงๆ ผมชอบอะไรที่มันเป็น D.I.Y อยู่แล้วครับ และ Waxed Canvas มันก็เป็นเทคนิคแฮนด์เมดในอดีต ซึ่งในตลาดบ้านเราแทบจะยังไม่มีใครทำเลย สว่นใหญ่จะเป็นแบรนด์อเมริกา ยุโรป ผมก็เลยลองเอามาพัฒนาดู สร้างสรรค์จุดเด่นในการเคลือบ Wax ลงบนผ้า ให้มีสไตล์ในแบบที่ยังไม่มีแบรนด์ไหนทำ”

“ถามว่า Waxed Canvas ดีกว่าการใช้เคมีหรือว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่ไหม ก็คงไม่ได้ดีกว่า แต่ว่าเสน่ห์ของมันคือด้วยความที่เป็นวัสดุจากธรรมชาติ เมื่อใช้ไปนานๆ ลายผ้ามันก็จะเปลี่ยน คล้ายกับการเฟดของกางเกงยีนส์ ตรงไหนที่มันเสียดสีบ่อยๆ ก็จะเกิดเป็นรอยเฉพาะตัว”

“ลักษณะเหมือนหนังแท้ที่เราใช้ไปเรื่อยๆ ก็จะเกิดเป็นรอย มีความยับ มีความฉ่ำ กลายเป็นว่ายิ่งเก่ายิ่งสวย”

“เสน่ห์อีกอย่างคือหากใช้ไปสัก 2-3 ปี Wax ที่เคลือบก็จะเสื่อมลงไป แต่ความสนุกคือเราสามารถเติม Wax ลงไปเคลือบใหม่ด้วยตัวเองได้ ง่ายๆ แค่ทาและเป่ามันด้วยลมร้อน”

 
นี่เป็นเหตุผลว่าทำไม PHUMM ถึงเลือกใช้ Waxed Canvas เป็นพระเอกในสินค้าของพวกเขา อย่างไรก็ตามนอกจากวัสดุแล้ว ในส่วนของการดีไซน์ คุณเบนก็ยังบรรจงใส่ความถนัดและแพชชั่นของเขาลงไปอย่างเต็มเปี่ยม 

“ผมถนัดในการทำงานหนังมาก่อน เพราะว่าก่อนหน้านี้จะทำพวกหนังแท้ หนังวัวล้วนๆ เลย ครับ คราวนี้พอมาทำแบรนด์ของตัวเองผมก็อยากดีไซน์ให้มีการผสมผสานที่ลงตัวระหว่าง Canvas กับหนังแท้ ไม่อยากเสียคาแรคเตอร์ของหนังไป”

“ผมมองว่าคาแรคเตอร์ของแบรนด์ PHUMM เป็นผู้ชายวัยทำงานที่ชื่นชอบในการแต่งตัว มีความวินเทจนิดๆ และมีไลฟ์สไตล์ที่หลากหลาย บางคนอาจจะชอบการขี่มอเตอร์ไซค์ หรือบางคนอาจจะใส่สูทผูกไทด์ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแบบไหนก็สามารถใช้งานกระเป๋าของ PHUMM ได้”

“สิ่งเหล่านี้สะท้อนลงบนดีไซน์ของสินค้า ที่ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานในรูปแบบไหนก็ครอบคลุมผู้บริโภคแทบทั้งหมด”

จุดเริ่มต้นของ PHUMM คือกระเป๋า และเมื่อมันประสบความสำเร็จ คุณเบนก็ต่อยอดไปยังสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหมวก, รองเท้า, ซาฟารีแจ็คเก็ต ซึ่งทุกชิ้นยังคงเอกลักษณ์ในแบบของ PHUMM ไว้อย่างชัดเจน

“ซาฟารีแจ็คเก็ตจุดเด่นของมันคือสวมใส่สบาย โดยเฉพาะในสภาพอากาศร้อนแบบบ้านเรา เนื่องจากซาฟารีแจ็คเก็ตมีเนื้อผ้าที่ไม่หนาหรือบางจนเกินไป และมีกระเป๋าค่อนข้างเยอะ ตอบโจทย์ฟังก์ชั่นการใช้งาน ไม่ว่าจะใส่เที่ยวหรือทำงาน ผมเลยเลือกที่จะทำซาฟารีแจ็คเก็ตออกมาก่อน ในอนาคตอาจจะมีแจ็คเก็ตแบบอื่นออกมาอีก”
อีกหนึ่งจุดเด่นของ PHUMM ที่คุณเบนภูมิใจที่จะนำเสนอคือการเป็นแบรนด์ไทยแท้ แต่มีคุณภาพไม่แพ้แบรนด์ระดับโลก

“ตอนนี้สินค้าของเราใช้ช่างคนไทยทำทั้งหมด จริงอยู่ที่อาจมีการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศบ้าง แต่เทคนิคการเคลือบผ้า การออกแบบ ตัดเย็บ เราทำเองหมด ทุกขั้นตอนที่เราทำในไทย โดยช่างคนไทย แต่ผมคิดว่าสามารถเทียบกับคุณภาพของต่างประเทศได้ นี่คืออีกหนึ่งจุดขายของแบรนด์เรา”

ก่อนที่การพูดคุยครั้งนี้จะสิ้นสุดลง คุณเบนได้กล่าวทิ้งท้ายออกมาอย่างน่าสนใจว่า

“ณ ตอนนี้ยังอยากโฟกัสที่เรื่องเครื่องแต่งกายก่อนครับ สินค้าหลักของแบรนด์คือกระเป๋า แต่ว่าในอนาคตอันใกล้อาจจะมีไอเท็มอื่นที่เป็นเสื้อผ้าเพิ่มเข้ามา และในระยะยาวอาจจะมีการตั้งร้านค้าที่เป็นออฟไลน์เพิ่มขึ้น นอกจากนั้นอาจมีคาเฟ่ด้วยครับ”
 
 
ขอขอบคุณ สัมภาษณ์พิเศษจากทางเวป www.wministry.com
บทความโดย Priewpan Saenlawan, Senior Writer, W. MINISTRY
 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้